คำชี้แจง

          การทำข้อตกลงความร่วมมือผลิตกัญชาทางการแพทย์ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อให้เกษตรกรสามารถปลูกกัญชาได้อย่างถูกกฎหมาย (ตามมาตรา 26 (4) พรบ.ยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 ฉบับที่ 7) และรัฐมีวัตถุดิบในการผลิตยาสำหรับใช้กับผู้ป่วยทั่วประเทศ ซึ่งมีปริมาณความต้องการจำนวนมาก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจึงได้ดำเนินการโครงการความร่วมมือกับเกษตรกรที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร และวิสาหกิจเพื่อสังคม (ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า วิสาหกิจชุมชน) ในการปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

          การทำข้อตกลงความร่วมมือผลิตกัญชาทางการแพทย์ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (MOA)เป็นขั้นตอนที่ดำเนินการระหว่าง กรมฯ และ วิสาหกิจชุมชน โดยตรงเท่านั้น หลังจากที่วิสาหกิจขุมขนทำMOAกับกรมฯ แล้ว วิสาหกิจชุมชนก็จะต้องจัดทำเอกสารคำขออนุญาตปลูกกัญชายื่นขออนุญาต อย. ตามข้อกำหนดของ อย. และดำเนินการปลูกกัญชาหลังจากได้รับอนุญาตต่อไป

ซึ่งสาระใน MOA มีดังต่อไปนี้

ข้อ 1 วัตถุประสงค์ของความร่วมมือ
         1.1 เพื่อส่งเสริม สนับสนุนเกษตรกรให้มีความรู้ ความเข้าใจถูกต้องในการปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
         1.2 เพื่อนำผลิตผลจากกัญชาส่วนที่เป็นยาเสพติดให้โทษมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ สามารถจำหน่ายให้กับผู้ได้รับอนุญาตตามกฎหมายได้
         1.3 เพื่อผลิตยาจากกัญชาตำรับเมตตาโอสถ และตำรับการุณย์โอสถ จำหน่ายให้กับสถานพยาบาลตามกฎหมายที่ได้รับอนุญาตทั้งภาครัฐและเอกชน
         1.4 เพื่อนำผลิตผลจากกัญชาส่วนที่ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษไปใช้ประโยชน์อื่น ทั้งด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และสร้างมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจ
         1.5 เพื่อให้“วิสาหกิจชุมชน” ได้มีผลิตภัณฑ์จากกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ มาใช้ตามภูมิปัญญา และสามารถจำหน่ายและพัฒนานวัตกรรมที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนได้


ข้อ 2 ขอบเขตความร่วมมือ
         2.1 ขอบเขตของ“กรม”ดังนี้

               2.1.1 ร่วมกับ“วิสาหกิจชุมชน” ปลูกกัญชาเพื่อใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา ในการจำหน่ายให้กับผู้ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย

               2.1.2 เป็นหน่วยงานที่ควบคุมกำกับมาตรฐานการเพาะปลูกเพื่อนำไปผลิตตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่

               2.1.3 รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการไปรับผลผลิตจากกัญชาในส่วนที่เป็นยาเสพติดให้โทษ ที่ผลิตจาก “วิสาหกิจชุมชน”ซึ่งเป็นของ “กรม”

          2.2 ขอบเขตของ“วิสาหกิจชุมชน”เป็นผู้ลงทุนและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการเพาะปลูกเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ให้ได้มาตรฐาน คุณภาพตามหลักวิชาการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 3 วิธีการและกรอบระยะเวลาความร่วมมือ

          ทั้ง 2 ฝ่าย มีการตกลงรายละเอียดในแต่ละโครงการ กิจกรรมที่จะมีการร่วมมือกันเป็นรายกรณีไป โดยมีการจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร และได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าหน่วยงานทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย กฎ ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการความร่วมมือในการดำเนินงานตามข้อตกลงความร่วมมือนี้ มีระยะเวลาดำเนินการประมาณ2 ปีเริ่มตั้งแต่วันที่ ........ กันยายน พ.ศ. 2564 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566

          ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงร่วมกันขยายกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ได้ตามความจำเป็นและ
ความเหมาะสมโดยจัดทำเป็นหนังสือ หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประสงค์จะบอกเลิกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าวจะต้องมีหนังสือแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าก่อนวันที่ประสงค์จะให้ข้อตกลงความร่วมมือนี้สิ้นสุดลงเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน (เก้าสิบวัน)

ข้อ 4 สิทธิในผลผลิต ผลิตภาพ และทรัพย์สินทางปัญญา

          4.1 “กรม” จะรับผลผลิตจากกัญชาส่วนที่เป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมาย สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ ให้รวมถึงการเกษตรกรรม พาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย

          4.2 “วิสาหกิจชุมชน” เป็นเจ้าของผลผลิตจากกัญชาในส่วนที่ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษทั้งหมด

          4.3 “วิสาหกิจชุมชน” จะได้รับผลประโยชน์ตามข้อตกลงกับ“กรม” เป็นคราวๆ ไป