คำแนะนำของการขออนุญาต

ด้วยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ได้เปิดให้สามารถนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยได้ ส่งผลให้กลุ่มผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่มีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสหกรณ์การเกษตร ซึ่งดำเนินการภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของหน่วยงานของรัฐ สามารถยื่นขอรับอนุญาตปลูกกัญชาได้

ดังนั้น เพื่อให้นโยบายการพัฒนากัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทยเกิดประโยชน์สูงสุด โดยการส่งเสริมให้ภาคเกษตรกรรมได้มีส่วนร่วมในการปลูกกัญชาอย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด และได้คุณภาพมาตรฐาน กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำคู่มือการขอรับอนุญาตปลูกกัญชาสำหรับเกษตรกร เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติของกลุ่มเกษตรกรในการเป็นผู้ขอรับอนุญาตปลูกกัญชา ดังนี้


คุณสมบัติของเกษตรกรที่จะขออนุญาตปลูกกัญชา

เกษตรกรสามารถขออนุญาตปลูกกัญชาได้ โดยการรวมกลุ่มกันจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม สหกรณ์การเกษตร และขออนุญาตร่วมกับหน่วยงานของรัฐ


ขั้นตอนการขอจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน

เกษตรกรรวมกลุ่มกันขอจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อปลูกกัญชาไม่ได้ เพราะกัญชายังจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ถ้าเช่นนั้นต้องทำอย่างไร กองควบคุมวัตถุเสพติด อย. มีคำแนะนำ ดังนี้

1.เกษตรกรรวมตัวกันเพื่อจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนในกิจการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อปลูกกัญชาโดยเฉพาะ

2.จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ดำเนินการในกิจการตามที่ยื่นขอ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ เพื่อรับใบรับรองการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน

3.วิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนแล้วร่วมกับหน่วยงานของรัฐ (ที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางเกษตรกรรม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือเภสัชกรรม หรือมีหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด)

4.ยื่นขออนุญาตผลิต (ปลูก) ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา

5.เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว นำไปอนุญาตให้ผลิต (ปลูก) ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา ยื่นขอเพิ่มกิจการวิสาหกิจชุมชน ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ ที่วิสาหกิจชุมชนจดทะเบียน


ไขข้อข้องใจ วิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชาได้หรือไม่

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 กำหนดให้กัญชายังคงเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ปลูก และขายไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

สามารถปลูกกัญชาได้ในกรณีจำเป็น เพื่อประโยชน์ของทางราชการการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนา รวมถึงการเกษตร พาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย และต้องได้รับอนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ


การจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชาทำได้หรือไม่

กรมส่งเสริมการเกษตรรับจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน แต่ไม่ได้รับจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนที่ต้องการปลูกกัญชาโดยเฉพาะ เนื่องจากขัดต่อประกาศของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2560

แต่ถ้าวิสาหกิจชุมชนต้องการปลูกกัญชาต้องดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

1.ต้องมีสัญญากับหน่วยงานของรัฐหรือมีสถาบันอุดมศึกษาที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือเภสัชศาสตร์ และหน่วยงานนั้นได้รับใบอนุญาตจาก อย.

2.นำสำเนาสัญญากับหน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษา ยื่นขอเพิ่มกิจการวิสาหกิจชุมชน ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ ที่วิสาหกิจชุมชนจดทะเบียน


ขั้นตอนการขออนุญาตปลูกกัญชา
1. ยื่นคำขอ พร้อมเอกสารหลักฐาน ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ที่สถานที่ปลูกตั้งอยู่
2. ตรวจประเมินสถานที่ขออนุญาตปลูกกัญชา
3. การประชุมของคณะกรรมการจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย เพื่อให้ผู้ว่าฯพิจารณาให้ความเห็น (กรณีพื้นที่ปลูกตั้งอยู่ต่างจังหวัด)
4. เข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรอง
5. เข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
6. ออกใบอนุญาต


เอกสารประกอบการขออนุญาตของวิสาหกิจชุมชน

  1. หนังสือจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน
  2. สำเนาทะเบียนบ้านของวิสาหกิจชุมชน (กรณีสถานที่ปลูกตั้งอยู่ที่วิสาหกิจชุมชน) 


เอกสารอื่น ๆ

1. โครงการการปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ ทางการแพทย์หรือเพื่อการศึกษาวิจัย

2. มาตรการรักษาความปลอดภัย

3. คำสั่งกำหนดรายชื่อ ผู้ที่สามารถเข้า-ออกในพื้นที่เพาะปลูกกัญชา พร้อมแนบหนังสือรับรองตนว่าไม่มีประวัติ หรือพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

4. แนวทางการปฏิบัติงาน (SOP) การขนส่ง การทำงาน